เล่าสู่กันฟัง

ประเพณีสวดด้าน
ความเป็นมา
ในวันธรรมสวนะ พุทธศาสนิกชนจะมาทำบุญฟังธรรมกัน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ จึงมีชาวบ้านมาทำบุญกันมากเป็นพิเศษ สถานที่ที่จัดให้มีภิกษุสงฆ์มาเทศนา คือในวิหารคดหรือพระระเบียง ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า ด้านการเทศน์ของพระภิกษุสงฆ์จะมีด้านละหนึ่งธรรมาสน์เป็นอย่างน้อย การไปฟังเทศน์ฟังธรรม ชาวบ้านจะต้องเตรียมตัวไปนั่งรอที่พระระเบียงก่อนที่พระสงฆ์จะไปถึง ในขณะที่นั่งรอ บางคนก็พูดคุยสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ บางคนก็มีเรื่องราวมาบอกเล่าสู่กันฟัง บางคนนั่งอยู่เฉย ๆ ทำให้น่าเบื่อ ในที่สุดจึงเกิดความคิดเห็นพ้องกันว่าควรหาหนังสือมาสวดจนกว่าพระจะมาเทศน์ เพื่อจะได้ฟังกัน ได้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้เป็นคติสอนใจ จึงเกิดประเพณีสวดด้านขึ้น
ระยะเวลาดำเนินการ
การสวดด้านจะมีเฉพาะในวันพระหรือในวันธรรมสวนะ(ขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ และขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ) เวลาก่อนเพล ก่อนพระสงฆ์จะขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมเทศนาให้พุทธศานิกชนฟังที่ระเบียงทั้งสี่ด้าน ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
สาระสำคัญ

๑. ผู้ฟัง ได้ฟังสาระจากการสวดหรือการอ่านหนังสือ ได้ทั้งความรู้คติสอนใจ และความเพลินเพลิด ส่วนผู้สวดได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือนับเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดที่ช่วยให้คนรักการอ่าน หนังสือและรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทั้งยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการฟังแก่เด็กนักเรียนได้
๒. ได้ทราบข่าวความเป็นไปของบ้านเมือง เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของจิตใจ
๓. เกิดความรักความสามัคคีหมู่คณะที่ไปทำบุญวัดเดียวกันสร้างแบบอย่างให้แก่ลูกหลาน

๔. เป็นการอนุรักษ์วรรณกรรมของชาวนครศรีธรรมราชในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งทางด้านภาษาและวรรณกรรมมาเป็นเวลายาวนานสมควรแก่การส่งเสริมให้มีการพัฒนาวรรณกรรมท้องถิ่นไว้เป็นมรดกของท้องถิ่นที่มีคุณค่ายิ่ง
////////////////////////////////

ความสำคัญของประเพณีกวนอาซูรอ

เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน
พิธีกรรม
การกวนข้าวอาซูรอเริ่มด้วยการที่เจ้าภาพประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการกวนข้าวอาซูรอกันที่ไหน เมื่อใด เมื่อถึงกำหนดนัดหมายชาวบ้านก็จะนำอาหารดิบ เช่น เผือกมัน ฟักทอง มะละกอ กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกันแล้วปอกหั่น ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นนำเครื่องปรุง เช่น ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ เป็นต้น มาเป็นเครื่องผสมโดยหั่นตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่นเดียวกัน สำหรับกะทิจะคั้นเฉพาะน้ำมาผสม
วิธีกวน
นำกะทะใบใหญ่ตั้งไฟ มีไม้พายสำหรับคนขนมอาซูรอ หลังจากตั้งกะทะบนเตา คั้นน้ำกะทิใส่ลงไป ตำหรือบดเครื่องแกงหยาบ ๆ ใส่ลงในน้ำกะทิ เมื่อกะทิเดือดใส่อาหารดิบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว คนด้วยไม้พายจนกระทั่งทุกอย่างเปื่อยยุ่ย กวนต่อไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อแห้งได้ที่แล้วตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นบาง ๆ หรืออาจโรยหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลาสมัน ผักชี หอมหั่นฝอย แล้วแต่รสนิยมของท้องถิ่น แล้วตัดเป็นชิ้น ๆ แจกจ่ายกันรับประทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น